เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ | 08:30 - 18:00
menu close

แนะนำการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน

content
SHARE :

 

     การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร เพื่อความปลอดภัย ขอแนะนำให้ติดตั้งและใช้งานอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน อย่างปลอดภัย โดยแผงควบคุมไฟฟ้า หรือเมนสวิตซ์ เป็นอุปกรณ์หลักที่ควบคุมการใช้ไฟฟ้า โดยสามารถสับ และปลดวงจรไฟฟ้าได้ทันที ส่วนใหญ่จะใช้เป็นอุปกรณ์ตัดไฟหลักตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ อาทิ เครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว และเบรกเกอร์ วิธีการติดตั้ง และใช้งาน ติดตั้งแผงควบคุมไฟฟ้าในตำแหน่งที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อยู่ห่างจากวัสดุที่เป็นเชื่อเพลิง อยู่สูงจากพื้นในระดับที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม่อยู่ใกล้แนวท่อน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายกรณีท่อน้ำชำรุด ติดตั้งแผงผังควบคุมไฟฟ้า เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่งการจ่ายไฟที่ชัดเจน เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าขัดข้องหรือชำรุด จะได้สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ตรงจุด ปรับตั้งขนาดของอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจร อาทิ ฟิวส์ เบรกเกอร์ ต้องเลือกขนาดที่สามารถตัดวงจรไฟฟ้าได้ทันทีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินขนาด อีกทั้งมีพิกัดในการตัดกระแสไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า ค่ากระแสไฟฟ้าที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงสอดคล้องกับแรงดันไฟฟ้าที่ใช้งาน หมั่นตรวจสอบแผงควบคุมไฟฟ้า อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง โดยเฉพาะขั้วต่อสาย การเข้าสายและจุดสัมผัสต่างๆ ต้องขันให้แน่น เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงจนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด โดยจะทำงานเมื่อมีไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย รวมถึงช่วยป้องกันเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร

 

 

      วิธีติดตั้ง และใช้งาน ติดตั้งสายดินควบคู่กับเครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว จะช่วยป้องกันไฟฟ้าดูด เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วจะไหลลงสายดินโดยไม่ผ่านร่างของผู้ใช้งาน ไม่ติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้ารั่วกับเมนสวิตซ์ ให้ใช้ในการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าเฉพาะจุด หรือวงจรย่อย เพื่อป้องกันเครื่องทำงานบ่อย ทำให้ไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ส่งผลให้เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดและเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร เลือกใช้เครื่องตัดไฟฟ้ารั่วให้เหมาะสม มีพิกัดป้องกันไฟฟ้ารั่วตามประเภทของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งาน ตรวจสอบหาสาเหตุเมื่อเครื่องตัดไฟฟ้ารั่วทำงาน เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วจุดใดจุดหนึ่งโดยทดลองจ่ายไฟเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทีละเครื่อง หากมีการตัดไฟ แสดงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ให้หยุดใช้งาน และจ้างช่างผู้ชำนาญมาซ่อม เบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์เปิด – ปิด การใช้งานไฟฟ้าในขณะใช้งานปกติ รวมถึงสามารถ ตัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้โดยอัตโนมัติ วิธีติดตั้ง และใช้งาน ไม่ติดตั้งเบรกเกอร์รวมในจุดเดียว โดยแยกชั้นบน – ชั้นล่าง เพื่อให้สามารถตัดไฟได้เมื่อเกิดน้ำท่วม หรือแยกตามประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบ และซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าในแต่ละจุด เลือกใช้เบรกเกอร์และฟิวส์ให้เหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้า เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจากการใช้ไฟฟ้าเกินขนาด ไม่ใช้เบรกเกอร์ที่มีค่าแอมป์สูงเกินไป เพราะหากกระแสไฟฟ้ารั่วไหล เบรกเกอร์จะไม่ทำงาน ทำให้สายไฟเกิดความร้อนสูงและเพลิงไหม้ได้ หมั่นตรวจสอบเบรกเกอร์ให้อยู่ในสภาพใช้งานอย่างปลอดภัย ไม่มีรอยแตก หรือร้าว ขั้วต่อสายแน่น หากเป็นเบรกเกอร์ที่อยู่ภายนอกบ้าน ต้องเลือกใช้แบบกันน้ำและทนต่อแสงแดด ทั้งนี้ การติดตั้ง และใช้งานอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้านอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้

 

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย